วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนะนำองค์กรในเครือข่าย ๓: กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมศึกษา

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม ให้บริการข้อมูล สารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อมเทคโนโลยีต่างๆ ในฐานะศูนย์ข้อมูล ข้อสนเทศด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสงวน บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้ง วิจัย พัฒนา ถ่ายทอดและส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการประสานและเสนอแนะแผน และมาตรการในการส่งเสริม เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับชาติ


วิสัยทัศน์ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คือ “ส่งเสริมและสนับสนุนให้

ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” และมีพันธกิจ

ในการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ

สิ่งแวดล้อม การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของเครือข่ายและภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อ

การบริหาร จัดการสิ่งแวดล้อม พัฒนา ประยุกต์ และให้บริการสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อม

และการ วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม



ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงานสิ่งแวดล้อมศึกษา

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้มีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตามกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษา และการศึกษาตลอดชีวิต โดยมีการดำเนินงานทั้งในระดับนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมศึกษาระดับชาติ รวมทั้งด้านการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาและประสานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษาทั้งในประเทศและระหว่างประเทศโดยมีการดำเนินงานดังนี้

1. งานยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมศึกษาทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ในการดำเนินงานพัฒนายุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมศึกษาโดยได้จัดทำแผนหลักสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (EESD) สำหรับ ปี พ.ศ. 2551-2555 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางในการทำแผนปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีส่วนในร่วมพัฒนากิจกรรมและแผนสิ่งแวดล้อมศึกษาให้สอดคล้องตามแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมศึกษาแห่งอาเซียน ฉบับที่ 1 (2543-2548) และฉบับที่ 2 (2549-2555) เพื่อการพัฒนางานสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับอาเซียนและนานาชาติต่อไป

2. โรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Eco-school) เป็นโครงการที่นำกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมศึกษามาใช้จัดการในระดับโรงเรียน โดยนำแนวคิด “Whole School Approach” มาเป็นกรอบแนวทางการในการพัฒนาโรงเรียน และมีกระบวนการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ผ่านกรอบการทำงาน 4 มิติ คือ (1) ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมศึกษาและโครงสร้างการบริหารจัดการ (2) การจัดกระบวนการเรียนรู้ (3) ระบบการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (4) การมีส่วนร่วมและเครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา โดยเน้นให้โรงเรียนได้วิเคราะห์และพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนทั้งระบบในบริบทของท้องถิ่นของตนเอง เพื่อนำไปสู่การใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


วิสัยทัศน์ของโรงเรียน Eco-school คือ “สร้างพลเมืองให้เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ มีความตระหนักและจิตสำนึกต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีบทบาทในกระบวนการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง”

ขณะนี้มีโรงเรียนที่สมัครใจเป็นโรงเรียนนำร่องเข้าร่วมโครงการ Eco-school ทั้งสิ้นจำนวน 41 โรงเรียน โดยโรงเรียนเหล่านี้จะได้รับคำแนะนำและการให้คำปรึกษาทางวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาค


3. โครงการมหิงสาสายสืบ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนที่สนใจในการศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ได้พัฒนากระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนผ่านการทำงานเป็นทีมในการสำรวจและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด ผ่านกิจกรรมความท้าทาย 4 ขั้นตอน คือ “การค้นหา” “สำรวจ” เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงของพื้นที่ ตลอดจน “อนุรักษ์” แล้วนำประสบการณ์ที่ได้มา “แบ่งปัน” หรือเผยแพร่ ให้กับผู้อื่นได้เห็นคุณค่าประโยชน์และความสำคัญของพื้นที่นั้น ซึ่งรางวัลที่ได้จากการทำโครงการคือรางวัลแห่งความภาคภูมิใจที่เยาวชนได้ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น

4. การจัดงานเวทีเสวนาระดับประเทศ (Thailand Environmental Education Forum) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เครือข่ายที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานในรูปแบบที่หลากหลาย อันจะก่อให้เกิดแนวทางร่วมกันในการพัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาอย่างยั่งยืนต่อไป

งานเวทีเสวนาระดับประเทศได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “เปลี่ยนเรา... เพื่อเปลี่ยนโลก” (The 3rd Thailand Environmental Education: Sharing for Change: We are living together) โดยมีผู้ร่วมงานทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 300 คน ภายในงานนอกจากจะมีการเสวนาในหัวข้อต่างๆ และนิทรรศการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในมิติสิ่งแวดล้อมศึกษาด้านต่างๆ แล้ว ยังได้ร่วมรับฟังมุมมองการพัฒนาสิ่งแวดล้อมศึกษาจากวิทยากรต่างประเทศและในประเทศอันจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

5. การพัฒนาสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้จัดทำสื่อทั้งในรูปแบบวีดิทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อให้บริการแก่ผู้สนใจ ดังนี้

วารสาร เส้นทางสีเขียว : Green Line

วารสารราย 4 เดือน ที่จัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน


หนังสือสะพานสีเขียว

คู่มือประกอบกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา สำหรับนักกิจกรรมและผู้สนใจงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา


หนังสือในโลกกว้าง

คู่มือเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับเยาวชน อายุ 10-12 ปี


หนังสือในโลกกว้าง

คู่มือเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับเยาวชน อายุ 11-15 ปี


โลกสวยด้วยมือเรา

แปลจากหนังสือ “Earth Works : Action Park”



สิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียน

แปลจากหนังสือ “Environmental Education in the Schools : Creating a Program that Work”



เว็บไซต์เวทีเสวนาสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ ครั้งที่ 3

เชื่อมโยงได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม www.deqp.go.th





ผู้สนใจงานสิ่งแวดล้อมศึกษาสามารถติดต่อและสอบถามข้อมูลได้ที่ :

ส่วนสิ่งแวดล้อมศึกษา กองส่งเสริมและเผยแพร่

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

49 พระราม 6 ซอย 30

พญาไท กรุงเทพฯ 10400

โทร. 0-2298-5628 แฟ็ก. 0-2298-5629

www.deqp.go.th

หรือติดต่อที่ eeforum@deqp.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น