วันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนะนำองค์กรในเครือข่าย ๓: กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมศึกษา

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อม ให้บริการข้อมูล สารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อมเทคโนโลยีต่างๆ ในฐานะศูนย์ข้อมูล ข้อสนเทศด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสงวน บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้ง วิจัย พัฒนา ถ่ายทอดและส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการประสานและเสนอแนะแผน และมาตรการในการส่งเสริม เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับชาติ


วิสัยทัศน์ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คือ “ส่งเสริมและสนับสนุนให้

ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” และมีพันธกิจ

ในการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ

สิ่งแวดล้อม การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของเครือข่ายและภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อ

การบริหาร จัดการสิ่งแวดล้อม พัฒนา ประยุกต์ และให้บริการสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อม

และการ วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม



ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงานสิ่งแวดล้อมศึกษา

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้มีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตามกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษา และการศึกษาตลอดชีวิต โดยมีการดำเนินงานทั้งในระดับนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมศึกษาระดับชาติ รวมทั้งด้านการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาและประสานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษาทั้งในประเทศและระหว่างประเทศโดยมีการดำเนินงานดังนี้

1. งานยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมศึกษาทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ในการดำเนินงานพัฒนายุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมศึกษาโดยได้จัดทำแผนหลักสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (EESD) สำหรับ ปี พ.ศ. 2551-2555 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นแนวทางในการทำแผนปฏิบัติการ นอกจากนี้ยังมีส่วนในร่วมพัฒนากิจกรรมและแผนสิ่งแวดล้อมศึกษาให้สอดคล้องตามแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อมศึกษาแห่งอาเซียน ฉบับที่ 1 (2543-2548) และฉบับที่ 2 (2549-2555) เพื่อการพัฒนางานสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับอาเซียนและนานาชาติต่อไป

2. โรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Eco-school) เป็นโครงการที่นำกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมศึกษามาใช้จัดการในระดับโรงเรียน โดยนำแนวคิด “Whole School Approach” มาเป็นกรอบแนวทางการในการพัฒนาโรงเรียน และมีกระบวนการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ผ่านกรอบการทำงาน 4 มิติ คือ (1) ด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมศึกษาและโครงสร้างการบริหารจัดการ (2) การจัดกระบวนการเรียนรู้ (3) ระบบการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (4) การมีส่วนร่วมและเครือข่ายสิ่งแวดล้อมศึกษา โดยเน้นให้โรงเรียนได้วิเคราะห์และพัฒนาการบริหารจัดการโรงเรียนทั้งระบบในบริบทของท้องถิ่นของตนเอง เพื่อนำไปสู่การใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


วิสัยทัศน์ของโรงเรียน Eco-school คือ “สร้างพลเมืองให้เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ มีความตระหนักและจิตสำนึกต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีบทบาทในกระบวนการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง”

ขณะนี้มีโรงเรียนที่สมัครใจเป็นโรงเรียนนำร่องเข้าร่วมโครงการ Eco-school ทั้งสิ้นจำนวน 41 โรงเรียน โดยโรงเรียนเหล่านี้จะได้รับคำแนะนำและการให้คำปรึกษาทางวิชาการจากสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาค


3. โครงการมหิงสาสายสืบ เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนที่สนใจในการศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัว ได้พัฒนากระบวนการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนผ่านการทำงานเป็นทีมในการสำรวจและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด ผ่านกิจกรรมความท้าทาย 4 ขั้นตอน คือ “การค้นหา” “สำรวจ” เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงของพื้นที่ ตลอดจน “อนุรักษ์” แล้วนำประสบการณ์ที่ได้มา “แบ่งปัน” หรือเผยแพร่ ให้กับผู้อื่นได้เห็นคุณค่าประโยชน์และความสำคัญของพื้นที่นั้น ซึ่งรางวัลที่ได้จากการทำโครงการคือรางวัลแห่งความภาคภูมิใจที่เยาวชนได้ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น

4. การจัดงานเวทีเสวนาระดับประเทศ (Thailand Environmental Education Forum) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เครือข่ายที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานในรูปแบบที่หลากหลาย อันจะก่อให้เกิดแนวทางร่วมกันในการพัฒนางานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาอย่างยั่งยืนต่อไป

งานเวทีเสวนาระดับประเทศได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “เปลี่ยนเรา... เพื่อเปลี่ยนโลก” (The 3rd Thailand Environmental Education: Sharing for Change: We are living together) โดยมีผู้ร่วมงานทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 300 คน ภายในงานนอกจากจะมีการเสวนาในหัวข้อต่างๆ และนิทรรศการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในมิติสิ่งแวดล้อมศึกษาด้านต่างๆ แล้ว ยังได้ร่วมรับฟังมุมมองการพัฒนาสิ่งแวดล้อมศึกษาจากวิทยากรต่างประเทศและในประเทศอันจะนำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

5. การพัฒนาสื่อสิ่งแวดล้อมศึกษา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้จัดทำสื่อทั้งในรูปแบบวีดิทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อให้บริการแก่ผู้สนใจ ดังนี้

วารสาร เส้นทางสีเขียว : Green Line

วารสารราย 4 เดือน ที่จัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน


หนังสือสะพานสีเขียว

คู่มือประกอบกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา สำหรับนักกิจกรรมและผู้สนใจงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา


หนังสือในโลกกว้าง

คู่มือเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับเยาวชน อายุ 10-12 ปี


หนังสือในโลกกว้าง

คู่มือเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพสำหรับเยาวชน อายุ 11-15 ปี


โลกสวยด้วยมือเรา

แปลจากหนังสือ “Earth Works : Action Park”



สิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียน

แปลจากหนังสือ “Environmental Education in the Schools : Creating a Program that Work”



เว็บไซต์เวทีเสวนาสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ ครั้งที่ 3

เชื่อมโยงได้ที่เว็บไซต์กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม www.deqp.go.th





ผู้สนใจงานสิ่งแวดล้อมศึกษาสามารถติดต่อและสอบถามข้อมูลได้ที่ :

ส่วนสิ่งแวดล้อมศึกษา กองส่งเสริมและเผยแพร่

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

49 พระราม 6 ซอย 30

พญาไท กรุงเทพฯ 10400

โทร. 0-2298-5628 แฟ็ก. 0-2298-5629

www.deqp.go.th

หรือติดต่อที่ eeforum@deqp.go.th

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แนะนำเฟซบุคของสมาชิกในเครือข่าย

EsdCenter EduChula : เป็นหน้าเฟซบุคของศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

R&D Center on ESD Innovations: เป็นหน้า Fan Page บนเฟซบุคของศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจเข้าชมได้โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน add friend

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ และระบบนิเวศเกษ: เป็นหน้าเฟซบุคของศูนย์ศึกษาธรรมชาติ และระบบนิเวศเกษตร กองทุนสัตว์ป่าโลก ประจำประเทศไทย (WWF, Thailand)

Magiceyes ตาวิเศษ: เป็นหน้าเฟซบุคของสมาคมสร้างสรรค์ไทย ตาวิเศษ

แนะนำองค์กรในเครือข่าย ๒: สมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (WSPA)

สมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (WSPA)



วิสัยทัศน์ของสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลกคือโลกที่สัตว์มีความสำคัญและหยุดยั้งการทารุณกรรมสัตว์


สมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลกส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์มากว่า 25 ปีแล้ว งานของเราพุ่งเป้าไปในพื้นที่ที่มีมาตรการปกป้องสัตว์น้อยมาก


สมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมุ่งทำงานด้านสวัสดิภาพสัตว์ใน 4 อันดับความสำคัญคือ:

สัตว์เลี้ยงที่เป็นเพื่อนของมนุษย์ – ความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์ การจัดการสัตว์เร่ร่อนอย่างมี เมตตา และการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์

การตักตวงผลประโยชน์เชิงการค้าจากสัตว์ป่า – การทำฟาร์มแบบเข้มข้น การจัดการสัตว์ป่าที่โหดร้าย และการฆ่าสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหารหรือผลิตผลพลอยได้อื่น

การทำฟาร์มสัตว์ – การทำฟาร์มแบบเข้มข้น การขนส่งระยะทางไกล และการฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร

การจัดการภัยพิบัติ – ให้การดูแลสัตว์ที่ได้รับความทุกข์ทรมานจากภัยพิบัติจากธรรมชาติหรือภัยพิบัติ จากน้ำมือมนุษย์ และปกป้องวิถีชีวิตของมนุษย์


ภารกิจของเรา: สร้างความเคลื่อนไหวด้านสวัสดิภาพสัตว์ระดับสากล

ในฐานะที่ปรึกษาองค์การสหประชาชาติและสภายุโรป สมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลกคือสมาคมสวัสดิภาพสัตว์ที่มีสมาชิกมากที่สุดในโลก


เราภูมิใจที่ได้เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายที่กำลังเติบโตแห่งนี้ ด้วยสมาชิกกว่า 900 องค์กรใน 150 ประเทศ


สมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลกนำผู้คนและองค์กรทั่วโลกมาพบกันเพื่อท้าทายประเด็นสวัสดิภาพสัตว์ระดับโลก

สมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมีสำนักงาน 13 แห่งทั่วโลก และผู้บริจาคหลายแสนคนทั่วโลก ตระหนักรู้ในเป้าหมายของเรา ในเชิงการเมือง เรารณรงค์เพื่อทำให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติและออกกฎหมายใหม่ๆ เพื่อปกป้องและปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์

ด้วยเงินบริจาคของผู้สนับสนุนของเรา สมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ช่วยผู้คนก่อตั้งกลุ่มสวัสดิภาพสัตว์ใหม่ๆ ทำให้ชุมชนท้องถิ่นทั่วโลกช่วยขับเคลื่อนการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์

ด้วยความเข้าใจที่ว่า การเพิกเฉยของมนุษย์คือปัจจัยหลักที่ทำให้ความโหดร้ายต่อสัตว์ยังดำรงอยู่ โครงการให้ความรู้ของสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งโลกช่วยทำให้คนมีทัศนคติเชิงบวกต่อสัตว์มากขึ้น

ทีมงานภาคสนามและทีมจัดการภัยพิบัติของเราได้ให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่สัตว์ที่ถูกทอดทิ้ง ละเลย และประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติและภัยพิบัติจากน้ำมือมนุษย์ทั่วโลก



การศึกษา

สัตว์สามารถรับรู้ความสุข ความเจ็บปวด และความทุกข์ทรมานได้ เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกับสัตว์ เราจึงมีความรับผิดชอบและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะปกป้องสวัสดิภาพสัตว์

สารเหล่านี้คือหัวใจสำคัญของเป้าหมายด้านการศึกษาของ WSPA และเพื่อพัฒนาความรักความเมตตา ความยุติธรรม ความเคารพต่อสัตว์ และมนุษย์ สวัสดิภาพสัตว์ยังสำคัญยิ่งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ด้วยความรู้พื้นฐานและความเข้าใจในหลักการสำคัญของสวัสดิภาพสัตว์ มนุษย์จะเข้าใจและซาบซึ้งว่าเราสามารถเป็นผู้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตสัตว์ทั่วโลกได้


การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

โครงการการศึกษาด้านสวัสดิภาพสัตว์ของ WSPA พุ่งเป้าไปที่ระดับโรงเรียนประถมและมัธยม ระดับอาชีวะ และการศึกษาระดับที่สูงกว่า

เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาของ WSPA ยังสนับสนุนและเป็นผู้ช่วยสมาชิกสมาคมทั่วโลกในการพัฒนาโครงการด้านการศึกษา


โครงการของเรา

WSPA ดำเนินโครงการการศึกษาด้านสวัสดิภาพสัตว์ในอเมริกากลาง อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย โดยมุ่งเน้นใน 3 ด้าน

1. การศึกษาด้านสวัสดิภาพสัตว์ระดับสากล (IN AWE)

โครงการการศึกษาเพื่อสัตว์ มนุษย์และสิ่งแวดล้อมมีกลุ่มเป้าหมายคือครูที่ทำงานกับเยาวชนอายุ 5-16 ปี เพื่อให้นำการศึกษาด้านสวัสดิภาพสัตว์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรของโรงเรียน ด้วยการทำงานร่วมกับภาครัฐ จัดการฝึกอบรมครู และจัดหาสื่อการเรียนการสอน

ด้วยการศึกษาเรื่องการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรม จะทำให้เด็กๆ เป็นคนมีความรักความเมตตรา และเติบโตเป็นประชากรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

ปัจจุบันโครงการ IN AWE ดำเนินการในคอสตาริกา ชิลี เปรู บราซิล เคนย่า และประเทศไทย


หาข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยดาวน์โหลดโบรชัวร์เรื่องการศึกษาด้านสวัสดิภาพสัตว์ (PDF 451 Kb) หรือที่เว็บไซต์เพื่อครูของ IN AWE : www.animal-education.org

เมษายน 2550 โครงการ IN AWE ได้รับการรับรองจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก้) สำนักงานภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน ในประเทศชิลี และจากสมาคมนานาชาติว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ (IAHAIO) เมื่อมิถุนายน 2551 (UNESCO regional office for Latin America and the Caribbean).


2.แนวคิดเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ (CAW) และการอบรมวิชาชีพ

หลักสูตรแนวคิดเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ถูกออกแบบมาเพื่อให้สะดวกแก่การเรียนการสอนเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ในคณะสัตวศาสตร์ทั่วโลก สัตวแพทย์มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ทั้งด้วยตัวเองและการชักชวนผู้อื่น

หลักสูตรนี้พัฒนาร่วมกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์ด้านสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยบริสตอล ในปี 2546 ต่อมามีการปรับปรุงซีดีรอมของหลักสูตรในปี 2551 และส่งเผยแพร่ไปในมหาวิทยาลัย 850 แห่งทั่วโลก มีผู้อาจารย์กว่า 400 คนเข้าร่วมการอบรมและการประชุมที่จัดโดย WSPA ยังสนับสนุนการฝึกอบรมอาชีพด้านการเกษตรที่ผสมผสานแนวคิดด้านสวัสดิภาพสัตว์เข้าไปด้วย

3. การเข้าถึงชุมชน และพัฒนาความเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง

เจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาของ WSPA ยังช่วยเหลือโครงการอื่นๆ ของ WSPA และสนับสนุนโครงการด้านการศึกษาของสมาชิกสมาคมด้วยการจัดให้คำปรึกษา ความคิดเห็น เงินทุนและผู้เชี่ยวชาญ

แนะนำองค์กรในเครือข่าย ๑: สมาคมสร้างสรรค์ไทย /ตาวิเศษ

สมาคมสร้างสรรค์ไทย /ตาวิเศษ (Thai Environmental and Communitiy Development Association)



สมาคมสร้างสรรค์ไทยเปิดตัวต่อสังคมครั้งแรก ในปีพ.ศ. 2527 และใช้โลโก้ “ ตาวิเศษ ” เป็นทั้งสัญลักษณ์ขององค์กร ( Group symbol) และ โลโก้ที่ใช้ในการรณรงค์( Project logo) โดย คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช นายกสมาคมสร้างสรรค์ไทย ซึ่งมาจากการระดมสมอง หาแนวทางการรณรงค์เรื่อง “ ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ” โดยสังเกตจากลูกๆ ว่าเด็กๆชอบดูการ์ตูน จึงเกิดความคิดจะทำโฆษณาเป็นการ์ตูน พร้อมกับหาโลโก้ ( Logo) ที่จะเป็นตัวนำ เพื่อว่า ในอนาคต 20 ปี 30 ป้างหน้า ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอะไรก็ยังสามารถนำโลโก้นี้ไปใช้ได้


สมาชิกชมรมสร้างสรรค์ไทยสมัยเริ่มก่อตั้ง ได้แก่

1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

2. บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

3. บริษัท กรีนสปอต (ประเทศไทย) จำกัด

4. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

5. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

6. บริษัท เอส.เอส.ซี.บี. ลินตาส จำกัด

7. บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด

8. สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 5

9. บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ( ทีวีสีช่อง 7 )

10. สถานีโทรทัศน์ ช่อง 9 ของ อ.ส.ม.ท.

11. บริษัท กมลสุโกศล จำกัด

12. บริษัท เสริมสุข (เป๊ปซี่) จำกัด

13. บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด

14. บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด

15. บริษัท ซิว-เนชั่นแนล จำกัด

16. บริษัท สยามกลการ จำกัด

17. บริษัท ไทยน้ำทิพย์ (โคคา-โคลา) จำกัด

18. บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด

19. บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ( ทีวีสีช่อง 3 )



10 ปีแรกของตาวิเศษ เป็นการทำงานตามความต้องการ และการเรียกร้องของชุมชน ตลอดจนองค์กรต่างๆ เช่น โรงเรียน รวมทั้งข้อเสนอจากบุคคลทั่วไป” ทั้งนี้ การทำงานของตาวิเศษ ไม่ใช่การทำงานแทนผู้เรียกร้อง แต่ทำหน้าที่ประสานงานและอำนวยความสะดวก ตลอดจนเป็นพี่เลี้ยงวางแนวทางในการทำงาน โดยอาศัยความร่วมมือจากชุมชนหรือองค์กรในพื้นที่ และวางเป้าหมายให้ชุมชนหรือองค์กรเหล่านั้น สามารถทำงาน

ปัจจุบัน ตาวิเศษ หรือสมาคมสร้างสรรค์ไทย ก็ยังคงทำหน้าที่ในการประสานงาน และอำนวยความสะดวกให้คำปรึกษา ร่วมวางแนวทางในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกับการดำเนินชีวิตให้แก่โรงเรียน หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ โดยอาศัยความร่วมมือจากชุมชน หรือองค์กรในท้องถิ่น ที่มุ่งเน้นความรู้สึกของการร่วมเป็นเจ้าของ และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของหน่วยงาน และท้องถิ่น ตลอดจนจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้สนใจที่เป็นกลุ่มโรงเรียน บริษัท ห้างร้าน รวมทั้งการจัดกิจกรรมรณรงค์ให้แก่บุคคลทั่วไปหันมาร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมต่รโครงการ

เป้าหมายของตาวิเศษ คือการสร้างสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กและเยาวชน จนถึงรุ่นผู้ใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยการปลูกฝังจิตสำนึกอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ดังนั้นโครงการให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นหัวใจของการรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

กระบวนการสำคัญของการให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ก็คือ การจัดกระบวนการให้เด็กๆและกลุ่มบุคคลที่เราสื่อสารด้วยนั้นรู้ว่า ทุกคนมีส่วนในการสร้างมลพิษ และชี้ให้เห็นปัญหาตลอดจนแนวทางแก้ไข ในหลากหลายรูปแบบ ผ่านกระบวนการเรียนรู้และสื่อเรียนรู้เพื่อการรณรงค์ในโครงการต่างๆของตาวิเศษ ซึ่งสื่อที่ตาวิเศษเคยจัดทำภายใต้โครงการฯ ต่างๆ ในอดีตเช่น คู่มือ แผ่นพับโปสเตอร์ ฯลฯ ซึ่งให้ข้อมูลที่มาของปัญหา และแนวทางในการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นคู่มือแยกขยะในโรงเรียน แผ่นพับแยกแก้วใบปลิวร่วมใจทำไทยให้สะอาด คู่มือการใช้น้ำ ฯลฯ เอกสารทั้งหมดเป็นการย่อยข้อมูลจากนักวิชาการนำมาเรียบเรียงให้อ่านเข้าใจง่ายเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายที่จะรณรงค์ ส่วนในปัจจุบัน ตาวิเศษมุ่งเน้นการสื่อสาร รณรงค์ผ่านเว็ปไซด์ www.magiceyes.or.th บทความสื่อสิ่งพิมพ์ และละครวิทยุ เป็นต้น ควบคู่ไปกับการเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่หน่วยงานเอกชนต่างๆ รวมทั้ง ร่วมเป็นวิทยากรกระบวนในการอบรมกับหน่วยงานต่างๆ

ปัจจุบัน ตาวิเศษ หรือสมาคมส้างสรรค์ไทยประกอบด้วย บริษัทสมาชิกดังต่อไปนี้

1. บริษัท กรีนสปอต จำกัด

2. สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์

3. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

4. บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด

5. บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด

6. สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11

7. สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

8 . บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)

9. บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด

10. กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย

11. สถานีโทรทัศน์ ไทยทีวีสีช่อง 3 อ.ส.ม.ท.

12. บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

13. บริษัท โลว์ จำกัด

14. บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด 1

15. สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5

16. บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด

17. บริษัท ปูนซิเมนต์ เอเชีย จำกัด (มหาชน)
 

Uadate รายชื่อสมาชิกของเครือข่าย (มิ.ย.๕๓)

กลุ่มครู นักการศึกษา และนักวิชาการ ในสถาบันการศึกษา

๑. รศ.ประสาน ตังสิกบุตร, คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

๒. ผศ.ดร.เยาวนิจ กิตติธรกุล, คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต

๓. ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล, คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๔. อ.สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี

๕. ผศ.ดร.บุญเชิด หนูอิ่ม, คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

๖. ผศ.รณิดา ปิงเมือง, คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย

๗. ดร.กาญจนา เชียงทอง, สำนักงานวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี

๘. ดร.อดิศักดิ์ สิงห์สีโอ, คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

๙. อ.ธันวา ใจเที่ยง, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎกาฬสินธุ์

๑๐. อ.สุภาดา ขุนณรงค์, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี

๑๑. อ.สุรีรัตน์ เทมวรรธน์, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี

๑๒. อ.จริยาภรณ์ มาสวัสดิ์, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยร มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา

๑๓. อ.ดร.จุฑารัตน์ วิบูลผล, คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๑๔. อ.ดร.วัชราภรณ์ แก้วดี, คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑๕. อ.ดร.อารยา พละโชติ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา


๑๖. อ.ดร.สายสุนีย์ อุลิศ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

๑๗. อ.ลัดดา สุวรรณศิลป์ จาก โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม




กลุ่มเจ้าหน้าที่ภาครัฐ
๑. คุณสาวิตรี ศรีสุข, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

๒. คุณนันทวัน เหล่าฤทธิ์, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

๓. ดร.จงรักษ์ ฐินะกุล, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

๔. คุณโสภิต ศรีศาสตร์ธนมาศ, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม


กลุ่มภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชน

๑. คุณจีระนันท์ ชะอุ่มใบ สมาคมสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ)

๒. คุณตุ๊กตา ใจหาญ สมาคมสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ)

๓. คุณภูวดล น้ำดอกไม้ กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF, Thailand)
 
๔. คุณวัฐคณา ทองเรือง จาก Systainability Asia

๕. คุณธีระชาติ เจตนิลพันธุ์ จาก World Society for the Protection of Animals

ESD-network Seminar ครั้งที่ ๑

วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดประชุมสัมมนาเครือข่าย ESD-network Seminar ครั้งที่ ๑ โดยในการสัมมนาครั้งนี้เน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Environmental Education for Sustainable Development: EESD) เป็นหลัก มีผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งอยู่ในเครือข่ายการทำงานของศูนย์ฯ ที่มีอยู่เดิม

๑. คุณสาวิตรี ศรีสุข จาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม


๒. ดร.จงรักษ์ ฐินะกุล จาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

๓. คุณนันทวรรณ เหล่าฤทธิ์ จาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

๔. รศ.ประสาน ตังสิกบุตร จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

๕. ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล จาก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๖. อ.ดร.วัชราภรณ์ แก้วดี จาก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๗. อ.สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ จาก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี

๘. อ.ดร.อารยา พละโชติ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

๙. อ.ดร.สายสุนีย์ อุลิศ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

๑๐. อ.ลัดดา สุวรรณศิลป์ จาก โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม

๑๑. คุณจีระนันทน์ ชะอุ่มใบ จาก มูลนิธิสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ)

๑๒. คุณภูวดล น้ำดอกไม้ จาก WWF, Thailand

๑๓. คุณวัฐคณา ทองเรือง จาก Systainability Asia

๑๔. คุณธีระชาติ เจตนิลพันธุ์ จาก World Society for the Protection of Animals

และมีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ จำนวน ๔ คน


ที่ประชุม เห็นชอบให้มีการพัฒนาเครือข่ายโดยเน้นการสื่อสารแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน แผนงาน ทรัพยากร และข้อมูลจากการดำเนินงาน และสนับสนุนให้เครือข่ายมีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรขององค์กรต่างๆ ในเครือข่ายร่วมกัน นอกจากนี้ยังได้มีการหารือถึงแนวทางที่จะเชื่อมต่อเครือข่ายกับเครือข่ายอื่นๆ ทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ

ที่ประชุมได้กำหนดช่วงเวลาสำหรับการประชุม ครั้งที่ ๒ ในช่วง ปลายเดือน กรกฎาคม ๒๕๕๓ ทั้งนี้ให้ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ประสานงานการจัดประชุมครั้งที่ ๒ และเห็นควรให้องค์กรในเครือข่ายผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่ในหน่วยประสานงานข้อมูลผ่านเครือข่ายออนไลน์ และประสานงานการจัดประชุมเครือข่าย ทุก ๖ เดือน

ทั้งนี้วาระการประชุมสัมมนา ครั้งที่ ๒ ประกอบด้วย

๑. การรายงานความเคลื่อนไหวในการทำงานขององคืกรหรือหน่วยงานต่างๆ

๒. การนำเสนอผลจากการประชุม ศึกษาดูงาน หรือฝึกอบรม ของสมาชิกเครือข่าย (ดร.วัชราภรณ์ แก้วดี และคุณนันทวรรณ เหล่าฤทธิ์ ได้รับทุนฝึกอบรมจาก Japan Foundation ในด้าน ESD จะร่วมนำเสนอบทเรียนจากการฝึกอบรม)

๓. การพัฒนาแผนงานร่วมกัน


...................

สรุปและเรียบเรียง โดย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

สรุปประเด็นสำคัญจากการสนทนากลุ่ม World Café Session 4: EESD Mapping

สรุปประเด็นสำคัญจากการสนทนากลุ่ม World Café Session 4: EESD Mapping


กลุ่มผู้เข้าร่วมสนทนา จำนวน ๑๘ คน ประกอบด้วย ครู นักเรียน อาจารย์สถาบันอุดมศึกษา ตัวแทนจากภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำเสวนา (ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล) ได้เปิดประเด็นการสนทนาโดยเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกำหนดคำถามหลักสำหรับการสนทนาไว้ ๓ คำถาม ได้แก่

- ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ด้วยวิธีการ/แนวทางอย่างไร และส่งผลอย่างไร

- โจทย์ใหม่ๆ หรือประเด็นร่วมสมัยที่ต้องเร่งดำเนินการสำหรับงานสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

- ‘ชิ้นส่วนที่หายไป’ ของงานสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย คือสิ่งใด



จากการสนทนาพบประเด็นจากเรื่องเล่าต่างๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

๑. กิจกรรมหรือโครงการที่มีการดำเนินการภายใต้แนวคิดของสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีความหลากหลาย ทั้งในระดับบุคคล กลุ่มหรือชมรม โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา หน่วยงานหรือองค์กร โดยองค์กรสนับสนุนงบประมาณกิจกรรมหรือโครงการดังกล่าวเป็นองค์กรภายนอก ขณะเดียวกันก็พบว่ามีการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจำนวนหนึ่งซึ่งเกิดจากความสนใจรายบุคคล จากนั้นจึงขยายขอบเขตเป็นการทำงานของกลุ่มที่ทำงานร่วมกัน เช่น ลุงสอน กล้าศึก คนปลูกต้นไม้ จากจังหวัดชัยภูมิ ผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประจำปี ๒๕๔๒ หรือ ดาบวิชัย แห่งบ้านขุขันธ์ จังหวัดศีสะเกษซึ่งได้เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้เกิดกลุ่มอาสาสมัครปลูกต้นไม้ขึ้นในหลายพื้นที่

๒. กิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ยึดโยงกับการศึกษาในระบบโรงเรียน เช่น กรณีของโรงเรียนเบ็ญจมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษามาอย่างยาวนาน และปัจจุบันเข้าร่วมในโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Eco-School แม้จะยังมีกิจกรรมในลักษณะรณรงค์ลดการสร้างขยะ และทำความสะอาดเป็นหลัก แต่จุดแข็งที่สำคัญยังอยู่ที่การส่งต่อการทำงานระหว่างนักเรียนรุ่นพี่รุ่นน้องที่ดำเนินต่อเนื่องมามากกว่าสิบปี ในรูปแบบของกิจกรรมชมรม นอกจากนี้โรงเรียนยังได้สนับสนุนให้มีการเชื่อมต่อกับงานจิตอาสาในโครงการโรงเรียนพี่/โรงเรียนน้องอีกด้วย ส่วนกรณีการพัฒนาหลักสูตรบูรณาการและชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพ และสารปราบศัตรูพืช ของ โรงเรียนในจังหวัด ซัยธานี ส.ป.ป.ลาว ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาไทย นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการทำงานที่กำหนดโจทย์ตามบริบทและความต้องการของชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐได้พิจารณาขยายผลการใช้หลักสูตรบูรณาการดังกล่าว

๓. กิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในมิติของงานด้านการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นกรณีจากคำบอกเล่าของผู้เข้าร่วมประชุมจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ซึ่งหยิบยกเรื่องราวความพยายามของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกองมุ่งทะ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่เล็งเห็นถึงภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านนิทานสอนชีวิต และได้ริเริ่มโครงการสอนภาษาเขียนให้กลุ่มเยาวชนในภาคฤดูร้อน เพื่อใช้ในการสานต่อเรื่องเล่าพื้นถิ่น ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ดำเนินมาแล้ว ๔ ปี จนเยาวชนรุ่นแรกได้เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นผู้สอนรุ่นน้องในโครงการ เรื่องเล่าจากบ้านกองมุ่งทะ ได้สะท้อนให้เห็นมิติของการใช้เนื้อหาของงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเป็นพลังขับเคลื่อนการสร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของให้เกิดแก่กลุ่มเป้าหมาย จนกลายเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในที่สุด

๔. สิ่งแวดล้อมศึกษาในกลุ่มเป้าหมายใหม่ ได้แก่ กลุ่มเด็กเปราะบาง (Vulnerable Children) ซึ่งมีโอกาสถูกชักจูงให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน เช่น ก้าวร้าว รังแก หรืออันธพาล ฯลฯ ได้มีกลุ่มความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สนับสนุนให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้ร่วมกิจกรรมจิตอาสาร่วมดูแลชุมชน ซึ่งช่วยให้เด็กกลุ่มดังกล่าวรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง และเห็นคุณค่าของการทำงานในเชิงจิตอาสาที่มีส่วนดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน

๕. สิ่งแวดล้อมศึกษาที่เริ่มจากครอบครัว สถานที่ทำงาน และชุมชนของนักปฏิบัติ เช่น กิจกรรม คืนต้นไม้ที่บ้านเด็ก ของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กิจกรรมจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วมของพนักงาน และบุคคลากร ของ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ทั้งสองโครงการมุ่งเน้นกิจกรรมที่กลุ่มเป้าหมายสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันที และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทั้งในการปฏิบัติ และการเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการ

๖. สิ่งแวดล้อมศึกษาที่ดำเนินการโดยการขับเคลื่อนขององค์การพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ) กองทุนสัตว์ป่าโลก ประเทศไทย (WWF) และโครงการลูกโลกสีเขียวของ ปตท. ด้วยประสบการณ์การทำงานที่ยาวนานทำให้องค์กร หรือโครงการดังกล่าวมีชุดความรู้ที่ได้รับการนำมาจัดการเพื่อขยายผลต่อเครือข่าย ผ่านการสื่อสารผ่านช่องทางใหม่ๆ เช่นเวปไซต์ของตาวิเศษที่เน้นให้ผู้เข้าเยี่ยมชมมีปฏิสัมพันธ์ได้มากขึ้น การถักทอเครือข่ายเยาวชนในโครงการลูกโลกสีเขียว ซึ่งเป็นการเสริมพลังให้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ได้เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาค และการเปิดพื้นที่ศูนย์ศึกษาระบบนิเวศต่างๆ เช่น ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่ชุ่มน้ำในเขตภาคอีสานตอนบน พื้นที่ชายฝั่งในเขตอ่าวไทยตอนบน ของ กองทุนสัตว์ป่าโลก ซ฿งเปิดโอกาสให้ความรู้ที่องค์กรได้รวบรวมไว้จากการทำงานภาคสนาม ได้รับการนำเสนอเป็นหลักสูตร และกิจกรรมที่จะเป้ฯประโยชน์ต่อผู้สนใจต่อไป

จากการสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าที่น่าประทับใจ อาจสรุปแนวโน้มที่น่าสนใจในกรทำงานสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “โจทย์การทำงานใหม่” และ ปัจจัยเงื่อนไขที่จัดว่าเป็น “ชิ้นส่วนที่หายไป” ได้ดังนี้

๑.การขยายกลุ่มเป้าหมายในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจากเดิมที่เน้นการทำงานเชิงรณรงค์กับโรงเรียน หรือการศึกษาในระบบโรงเรียน มุ่งไปสู่การทำงานร่วมกับชุมชน และการสร้างชุมชนนักปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น พนักงานหรือบุคลากรขององค์กร กลุ่มความสนใจในหมู่บ้าน เด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ฯลฯ


๒. การกำหนดโจทย์การทำงาน ซึ่งได้แก่ ประเด็นหรือหัวข้อการเรียนรู้ที่ตอบสนอง “ต้นทุน” ดั้งเดิมในพื้นที่ อันได้แก่ ทุนธรรมชาติ ทุนสังคม ทุนภูมิปัญญา

๓. การพิจารณาถึงกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา ในฐานะกระบวนการเรียนรู้ที่มีลักษณะสำคัญ ๔ ประการ ได้แก่

มีความเป็นองค์รวม (Holistic View) สร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ (Ownership-based) เสริมสร้างพลังให้แก่บุคคลและชุมชน (Empowering) และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม (Participatory)









สรุปและเรียบเรียงโดย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล