วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

สรุปประเด็นสำคัญจากการสนทนากลุ่ม World Café Session 4: EESD Mapping

สรุปประเด็นสำคัญจากการสนทนากลุ่ม World Café Session 4: EESD Mapping


กลุ่มผู้เข้าร่วมสนทนา จำนวน ๑๘ คน ประกอบด้วย ครู นักเรียน อาจารย์สถาบันอุดมศึกษา ตัวแทนจากภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำเสวนา (ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล) ได้เปิดประเด็นการสนทนาโดยเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกำหนดคำถามหลักสำหรับการสนทนาไว้ ๓ คำถาม ได้แก่

- ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ด้วยวิธีการ/แนวทางอย่างไร และส่งผลอย่างไร

- โจทย์ใหม่ๆ หรือประเด็นร่วมสมัยที่ต้องเร่งดำเนินการสำหรับงานสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย

- ‘ชิ้นส่วนที่หายไป’ ของงานสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย คือสิ่งใด



จากการสนทนาพบประเด็นจากเรื่องเล่าต่างๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้

๑. กิจกรรมหรือโครงการที่มีการดำเนินการภายใต้แนวคิดของสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีความหลากหลาย ทั้งในระดับบุคคล กลุ่มหรือชมรม โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา หน่วยงานหรือองค์กร โดยองค์กรสนับสนุนงบประมาณกิจกรรมหรือโครงการดังกล่าวเป็นองค์กรภายนอก ขณะเดียวกันก็พบว่ามีการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนจำนวนหนึ่งซึ่งเกิดจากความสนใจรายบุคคล จากนั้นจึงขยายขอบเขตเป็นการทำงานของกลุ่มที่ทำงานร่วมกัน เช่น ลุงสอน กล้าศึก คนปลูกต้นไม้ จากจังหวัดชัยภูมิ ผู้ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประจำปี ๒๕๔๒ หรือ ดาบวิชัย แห่งบ้านขุขันธ์ จังหวัดศีสะเกษซึ่งได้เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้เกิดกลุ่มอาสาสมัครปลูกต้นไม้ขึ้นในหลายพื้นที่

๒. กิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ยึดโยงกับการศึกษาในระบบโรงเรียน เช่น กรณีของโรงเรียนเบ็ญจมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษามาอย่างยาวนาน และปัจจุบันเข้าร่วมในโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Eco-School แม้จะยังมีกิจกรรมในลักษณะรณรงค์ลดการสร้างขยะ และทำความสะอาดเป็นหลัก แต่จุดแข็งที่สำคัญยังอยู่ที่การส่งต่อการทำงานระหว่างนักเรียนรุ่นพี่รุ่นน้องที่ดำเนินต่อเนื่องมามากกว่าสิบปี ในรูปแบบของกิจกรรมชมรม นอกจากนี้โรงเรียนยังได้สนับสนุนให้มีการเชื่อมต่อกับงานจิตอาสาในโครงการโรงเรียนพี่/โรงเรียนน้องอีกด้วย ส่วนกรณีการพัฒนาหลักสูตรบูรณาการและชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพ และสารปราบศัตรูพืช ของ โรงเรียนในจังหวัด ซัยธานี ส.ป.ป.ลาว ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาไทย นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการทำงานที่กำหนดโจทย์ตามบริบทและความต้องการของชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐได้พิจารณาขยายผลการใช้หลักสูตรบูรณาการดังกล่าว

๓. กิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในมิติของงานด้านการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นกรณีจากคำบอกเล่าของผู้เข้าร่วมประชุมจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ซึ่งหยิบยกเรื่องราวความพยายามของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกองมุ่งทะ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่เล็งเห็นถึงภูมิปัญญาในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านนิทานสอนชีวิต และได้ริเริ่มโครงการสอนภาษาเขียนให้กลุ่มเยาวชนในภาคฤดูร้อน เพื่อใช้ในการสานต่อเรื่องเล่าพื้นถิ่น ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ดำเนินมาแล้ว ๔ ปี จนเยาวชนรุ่นแรกได้เริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นผู้สอนรุ่นน้องในโครงการ เรื่องเล่าจากบ้านกองมุ่งทะ ได้สะท้อนให้เห็นมิติของการใช้เนื้อหาของงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเป็นพลังขับเคลื่อนการสร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของให้เกิดแก่กลุ่มเป้าหมาย จนกลายเป็นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในที่สุด

๔. สิ่งแวดล้อมศึกษาในกลุ่มเป้าหมายใหม่ ได้แก่ กลุ่มเด็กเปราะบาง (Vulnerable Children) ซึ่งมีโอกาสถูกชักจูงให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบน เช่น ก้าวร้าว รังแก หรืออันธพาล ฯลฯ ได้มีกลุ่มความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สนับสนุนให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้ร่วมกิจกรรมจิตอาสาร่วมดูแลชุมชน ซึ่งช่วยให้เด็กกลุ่มดังกล่าวรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง และเห็นคุณค่าของการทำงานในเชิงจิตอาสาที่มีส่วนดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน

๕. สิ่งแวดล้อมศึกษาที่เริ่มจากครอบครัว สถานที่ทำงาน และชุมชนของนักปฏิบัติ เช่น กิจกรรม คืนต้นไม้ที่บ้านเด็ก ของ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กิจกรรมจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วมของพนักงาน และบุคคลากร ของ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ทั้งสองโครงการมุ่งเน้นกิจกรรมที่กลุ่มเป้าหมายสามารถลงมือปฏิบัติได้ทันที และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทั้งในการปฏิบัติ และการเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการ

๖. สิ่งแวดล้อมศึกษาที่ดำเนินการโดยการขับเคลื่อนขององค์การพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิสร้างสรรค์ไทย (ตาวิเศษ) กองทุนสัตว์ป่าโลก ประเทศไทย (WWF) และโครงการลูกโลกสีเขียวของ ปตท. ด้วยประสบการณ์การทำงานที่ยาวนานทำให้องค์กร หรือโครงการดังกล่าวมีชุดความรู้ที่ได้รับการนำมาจัดการเพื่อขยายผลต่อเครือข่าย ผ่านการสื่อสารผ่านช่องทางใหม่ๆ เช่นเวปไซต์ของตาวิเศษที่เน้นให้ผู้เข้าเยี่ยมชมมีปฏิสัมพันธ์ได้มากขึ้น การถักทอเครือข่ายเยาวชนในโครงการลูกโลกสีเขียว ซึ่งเป็นการเสริมพลังให้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ ได้เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาค และการเปิดพื้นที่ศูนย์ศึกษาระบบนิเวศต่างๆ เช่น ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พื้นที่ชุ่มน้ำในเขตภาคอีสานตอนบน พื้นที่ชายฝั่งในเขตอ่าวไทยตอนบน ของ กองทุนสัตว์ป่าโลก ซ฿งเปิดโอกาสให้ความรู้ที่องค์กรได้รวบรวมไว้จากการทำงานภาคสนาม ได้รับการนำเสนอเป็นหลักสูตร และกิจกรรมที่จะเป้ฯประโยชน์ต่อผู้สนใจต่อไป

จากการสนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าที่น่าประทับใจ อาจสรุปแนวโน้มที่น่าสนใจในกรทำงานสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “โจทย์การทำงานใหม่” และ ปัจจัยเงื่อนไขที่จัดว่าเป็น “ชิ้นส่วนที่หายไป” ได้ดังนี้

๑.การขยายกลุ่มเป้าหมายในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมจากเดิมที่เน้นการทำงานเชิงรณรงค์กับโรงเรียน หรือการศึกษาในระบบโรงเรียน มุ่งไปสู่การทำงานร่วมกับชุมชน และการสร้างชุมชนนักปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น พนักงานหรือบุคลากรขององค์กร กลุ่มความสนใจในหมู่บ้าน เด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ฯลฯ


๒. การกำหนดโจทย์การทำงาน ซึ่งได้แก่ ประเด็นหรือหัวข้อการเรียนรู้ที่ตอบสนอง “ต้นทุน” ดั้งเดิมในพื้นที่ อันได้แก่ ทุนธรรมชาติ ทุนสังคม ทุนภูมิปัญญา

๓. การพิจารณาถึงกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา ในฐานะกระบวนการเรียนรู้ที่มีลักษณะสำคัญ ๔ ประการ ได้แก่

มีความเป็นองค์รวม (Holistic View) สร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ (Ownership-based) เสริมสร้างพลังให้แก่บุคคลและชุมชน (Empowering) และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม (Participatory)









สรุปและเรียบเรียงโดย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น