วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553

คณะครูและนักเรียน จากโรงเรียนในจังหวัดปทุมธานี ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับนักวิชาการไทย-ญี่ปุ่น

ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ - ๑๖ มกราคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ และ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดโครงการประชุมปฏิบัติการ เรื่อง จากนโยบายสู่การปฏิบัติ: การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินงานการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับชุมชนระหว่างไทยกับญี่ปุ่น” ณ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี



คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนในจังหวัดปทุมธานี จำนวนประมาณ ๕๐ คน ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมดังกล่าว ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ

ส่วนที่ ๑ การศึกษาดูงานภาคสนามของคณะครู ณ โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาทางเลือก ที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมศึกษาแบบองค์รวมและการสร้างความตระหนักทางสังคมระดับโรงเรียนประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา โดยระหว่างการศึกษาดูงานได้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ในการส่งเสริมการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ส่วนที่ ๒ การจัดกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษาสำหรับนักเรียน โดยการนำของ รองศาสตราจารย์ โรจน์ คุณเอนก  และคณาจารย์ นักศึกษา ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กิจกรรมประกอบด้วยการนำเสนอความรู้เรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม/ฉายวิดิทัศน์ และเกมสิ่งแวดล้อมศึกษา โดยแบ่งออกเป็น ๕ ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ กิจกรรมเพื่อสังคม (ทำความรู้จักกับ ISO 14,000 และ CSR) การอนุรักษ์พลังงาน การจัดการขยะโดยการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ การลดการใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน และการประหยัดทรัพยากรในสำนักงาน

นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมในโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดย บริษัท อินทิเกรเต็ด ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด
 
ส่วนที่ ๓ การสัมมนาระหว่างคณะนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย
 
การบรรยาย เรื่อง “ปัญหาและแนวโน้มด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาของประเทศญี่ปุ่นในอดีต ปัจจุบันและอนาคต” โดย ศาสตราจารย์ ดร. คิมิโกะ โคซาวะ แห่ง มหาวิทยาลัยโตไก ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีสาระสำคัญของการบรรยายที่กล่าวถึง พัฒนาการของงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาของญี่ปุ่นจากอดีตถึงปัจจุบัน กิจกรรมและโครงการด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาที่น่าสมใจ เช่น Junior Eco Club, EE in Paddyfield เป็นต้น บทบาทการสนับสนุนการทำงานโดยกลไกและนโยบายจากภาครัฐ



การอภิปรายและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินงานการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับชุมชนระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดย ศาสตราจารย์ ดร. คิมิโกะ โคซาวะ แห่ง มหาวิทยาลัยโตไก และอาจารย์ ทองดี แย้มสรวล โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุงปทุมธานี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา สาระสำคัญของการเสวนา มุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทที่แตกต่างกัน การกำหนดประเด็นในการทำงาน และการพิจารณาถึงปัจจัยเงื่อนไข แรงสนับสนุนที่จะช่วยให้งานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ



การอภิปรายและสัมมนาเชิงปฏิบัติการโต๊ะกลม เรื่อง "บทเรียนจากประสบการณ์ญี่ปุ่นเกี่ยวกับการดำเนินการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับชุมชน" โดย อาจารย์มาลี ทรงเกตุกุล ครูแกนนำ โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง คุณฐิตินันท์ ศรีสถิต อดีตกองบรรณาธิการนิตยสารโลกสีเขียว และอดีตผู้เข้าร่วมโครงการ JENESYS East Asia Future Leader (Youth Exchange) 2008 และคุณสุรินทร์ วราชุน นักสิ่งแวดล้อมศึกษา จาก WWF, Thailand โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา สาระสำคัญของการเสวนา ประกอบด้วย การนำเสนอกรณีตัวอย่างการออกแบบกิจกรรมการเรียนแบบบูรณาการสิ่งแวดล้อมศึกษา ของโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง  การนำเสนอประสบการณ์การศึกษาดูงานจากญี่ปุ่นซึ่งเน้นให้เห็นถึงการสนับสนุนอย่างจริงจังให้กิจกรรมการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมศึกษาบูรณาการเข้าสู่วิถีชีวิตประจำวันของทุกคน ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับครูและนักเรียนในโรงเรียน ของนักสิ่งแวดล้อมศึกษา





รายงานโดย Web Editor, EESD Network Thailand

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น