วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553

มุ่งสู่ความยั่งยืน: จิตสำนึกใหม่เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

บทความโดย อรรถพล อนันตวรสกุล




โจเอล อี โคเฮน (Joel E. Cohen) ศาสตราจารย์ด้านประชากรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้รายงานการคาดการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านประชากรศาสตร์ไว้ในหนังสือ Crossroads for Planet Earth (2005) ซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญยิ่งและใคร่ขอนำเสนอเป็นข้อมูลเพื่อเปิดประเด็นความคิดไว้ ดังนี้

.........................................................................

ในปี 1950 โลกมีประชากร 2.5 พันล้านคน ในปี 2005 ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 พันล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2050 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.1 พันล้านคน

จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2005 ถึง ปี 2050 คือ 2.5 พันล้านคน นั่นเท่ากับว่า ภายใน 45 ปี โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนประชากรทั้งหมดที่โลกมีในปี 1950

หลังจากปี 2005 เป็นต้นไป โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นปีละ 74 – 76 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่าทุกๆ 4 ปี โลกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนประชากรทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา

จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งอาศัยอยู่ใน 9 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน ไนจีเรีย คองโก บังคลาเทศ อูกันดา เอธิโอเปีย จีน และสหรัฐอเมริกาโดยประชากรที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐอเมริกานั้น 1 ใน 3 มาจากการอพยพเข้า

ประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น อิตาลี รัสเซีย และอีก 47 ประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่นคง จะมีประชากรลดน้อยลง

อายุขัยเฉลี่ยประชากรโลกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อยู่ที่ 30 ปี ขณะที่อายุขัยเฉลี่ยประชากรโลกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อยู่ที่ 65 ปี

ก่อนปี 2000 ประชากรในวัยหนุ่มสาวมีมากกว่าประชากรสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) แต่หลังจากปี 2000 เป็นต้นไป สัดส่วนของประชากรสูงอายุจะมีมากกว่าประชากรในวัยหนุ่มสาว

ในปี 2050 ประชากรสูงอายุในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาสัดส่วนของประชากรสูงอายุเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมดคิดเป็น 1 ใน 5

ปี 2050 ในกลุ่มประเทศยากจนจะเกิดชุมชนเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์

.........................................................................................

การประเมินสถานการณ์ด้านประชากรดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยง ภาวะคุกคามและขีดจำกัดสำคัญที่มวลมนุษยชาติจะต้องเผชิญหน้าในอนาคตอันใกล้ไว้หลายประการ สามารถวิเคราะห์เป็นประเด็นสำคัญที่เราควรพิจารณาถึง 6 ประการ คือ


1. การเพิ่มขึ้นของประชากร สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการ อาหาร น้ำดื่ม พลังงาน ที่อยู่อาศัย และระบบสาธารณูปโภค ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนจำเป็นที่ต้องมีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เป็นวัตถุดิบ ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของประชากรยังแสดงให้เห็นถึงปริมาณขยะและของเสียที่จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของขนาดรอยเท้าทางนิเวศ (Ecological Footprint) ที่แต่ละสังคมทิ้งไว้กับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติทั้งในประเทศตน และในพื้นที่อื่นๆ


2. สัดส่วนการเพิ่มขึ้นและลดลงของประชากรในกลุ่มประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และกลุ่มประเทศยากจน ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ปัญหาความยากจน การขาดแคลนอาหาร และภาวะทุพพลโภชนาที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการเคลื่อนย้ายประชากรที่เป็นแรงงานจากกลุ่มประเทศยากจนซึ่งจะหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีการจ้างงาน มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมมากกว่าในการดำรงชีวิต


3. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร จากสังคมที่มีประชากรวัยแรงงานเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีกำลังความสามารถการผลิตและการแข่งขันลดลง แต่มีกำลังซื้อสูง มีความต้องการการดูแลจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้น ภาระหน้าที่ในการเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศของคนหนุ่มสาวมีมากขึ้น ขณะที่ต้องประสบกับปัญหาแรงงานข้ามชาติราคาถูก


4. การขยายตัวอย่างมากของเมือง และมีกระจายตัวของชุมชนเมืองขนาดใหญ่ในทั่วทุกทวีป ทำให้สัดส่วนของการผลิตภาคอุตสาหกรรม การค้าและการบริการทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ขณะที่ภาคการเกษตรถูกลดความสำคัญลง ทั้งๆที่ความต้องการอาหารเพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมอาหารและพลังงานจะถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่


5. สังคมจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม (Multicultural Society) มากขึ้น เนื่องจากการอพยพของแรงงานและประชากรจากแทบทุกทวีป การดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความหลากหลายและความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม จะเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ประชากรในอนาคตต้องเผชิญ


6. ปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร อาหาร น้ำสะอาด และพลังงาน จากภาวะประชากรโลกจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง การแก่งแย่ง และสงคราม โดยมีกลไกในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเผชิญหน้ากันของประเทศต่างๆ
 
ภาวะคุกคาม และความจำกัดต่างๆ ที่รอให้เราเผชิญในอีกไม่เกินห้าสิบปีข้างหน้าจึงนับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และจำเป็นที่แต่ละสังคมต้องมียุทธศาสตร์ในการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ทั้งนี้ กระบวนการจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบโรงเรียน การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย ให้กับประชาชนในทุกภาคส่วนของสังคมเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สมควรได้รับการพิจารณาถึง ดังได้มีการระบุถึงความสำคัญจำเป็นของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในเอกสาร แผนปฏิบัติการ 21 (Agenda21, 2537) ว่า


"การศึกษาจะช่วยให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและจริยธรรม การมีค่านิยม ทัศนคติ ทักษะและพฤติกรรมที่จะส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการนี้การศึกษาควรให้ความรู้แก่ประชาชนไม่เฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพและกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม และในเรื่องการพัฒนามนุษย์ (Human development) ด้วย"

เป้าหมายของการจัดการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมพลเมืองโลกยุคใหม่จึงต้องมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนวิธีคิด เน้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณและการคิดแบบองค์รวม เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ ตลอดจนการปลูกฝังจิตสำนึกใหม่ให้ตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ในลักษณะพึ่งพากันและกัน ระหว่างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางสังคม ชุมชนเมืองและชุมชนชนบท สังคมที่มีความมั่งคั่งร่ำรวยและสังคมที่ยากจน สังคมอุตสาหกรรมและสังคมเกษตรกรรม รวมไปจนถึงความสมดุลระหว่างสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมืองและสิ่งแวดล้อม กรอบแนวคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงองค์รวมของจิตสำนึกใหม่เพื่อความยั่งยืนที่ครอบคลุมมิติต่างๆในการพัฒนา และตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่านิยมหลัก 4 ประการ ได้แก่




1. มิติด้านสิ่งแวดล้อม: ค่านิยมการอนุรักษ์
2. มิติด้านเศรษฐกิจ: ค่านิยมด้านการพัฒนาที่เหมาะสม
3. มิติด้านสังคม: ค่านิยมด้านสันติภาพ ความเท่าเทียมกัน และสิทธิมนุษยชน
4. มิติด้านการเมือง: ค่านิยมประชาธิปไตย


จากการนำเสนอข้อมูลข้างต้น ผู้เขียนได้นำกรอบแนวคิดดังกล่าวมาวิเคราะห์เพิ่มเติมร่วมกับเอกสารปฏิญญาโลก (The Earth Charter) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่จัดทำขึ้นโดย the Earth Charter International Council เครือข่ายประชาสังคมระดับนานาชาติประกอบบุคลากรทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ นักวิจัย และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ทั้งนี้เอกสารปฏิญญาโลกได้ให้หลักการทั่วไปในการทำงานที่ควรขับเคลื่อนทั้งในระดับบุคคล องค์กร สถาบัน และเครือข่ายประชาสังคม ไว้ 4 ประการ คือ

1. การให้ความเคารพและใส่ใจต่อชุมชนแห่งชีวิต
2. ความสมบูรณ์มั่งคั่งของระบบนิเวศ
3. ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม และ
4. ประชาธิปไตย การไม่ใช้ความรุนแรง และสันติภาพ

จากการศึกษาเอกสารในเบื้องต้น ผู้เขียนใคร่ขอสรุปประเด็นหลักเกี่ยวกับจิตสำนึกใหม่ 10 ประการ ที่ควรได้รับการปลูกฝังและพัฒนาให้เกิดขึ้นแก่พลเมืองตามแนวคิดของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย

1. ความห่วงใยและมุ่งมั่นที่จะปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม
2. การผลิตและบริโภคอย่างเหมาะสม และพอเพียง
3. การใช้ทรัพยากรและการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
4. การยอมรับความแตกต่าง และความหลากหลายทางวัฒนธรรม
5. การยอมรับในสิทธิมนุษยชนของคนกลุ่มต่างๆ
6. การใช้เหตุผลและกระบวนการประชาธิปไตยในการตัดสินใจ
7. การไม่ใช้ความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้ง
8. การประนีประนอม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
9. ความยุติธรรม และความเป็นธรรม
10. การมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม


ในกระบวนการปลูกฝังและพัฒนาจิตสำนึกใหม่ทั้ง 10 ประการข้างต้น แม้จะเป็นหน้าที่หลักของหน่วยงานและสถาบันที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการศึกษา แต่การเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมที่มีความเกี่ยวข้องได้มีส่วนสนับสนุน และร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงแนวคิดดังกล่าวจาก “ทุกระบบการศึกษาสู่ทั้งระบบของสังคม” จนเป็น “ส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของทุกผู้คน” เป็นประเด็นที่สมควรอย่างยิ่งที่จะมีการถกเถียงหารือเพื่อเร่งดำเนินการต่อไปในอนาคต




...................................................................................


เอกสารประกอบการเรียบเรียง

มานพ เมฆประยูรทอง (แปล). แผนปฏิบัติการ 21 เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน. กระทรวงการต่างประเทศ. กรุงเทพฯ (2537)


Earth Charter International. The Earth Charter Initiative. http://www.earthcharter.org/ (December 2007) SCIENTIFIC AMERICAN. Crossroads for Planet Earth. SCIENTIFIC AMERICAN, INC., New York, U.S.A. (2005)


Teaching and Learning for a Sustainable Future: A Multimedia Teacher Education Program. UNESCO. http://www.unesco.org/education/tlsf/ (December 2007)


..................................................................


ที่มา


อรรถพล อนันตวรสกุล. “มุ่งสู่ความยั่งยืน: จิตสำนึกใหม่เพื่ออนาคตที่ดีกว่า”. เอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อย ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย. สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรม ครั้งที่ 3 (25-27 มกราคม 2551)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น